ทุกการเคลื่อนไหว ทุกการเต้นของหัวใจ และทุกความคิดที่ก่อร่างขึ้นในสมอง ล้วนมีแร่ธาตุสำคัญชนิดหนึ่งทำงานอยู่เบื้องหลังอย่างเงียบ ๆ นั่นคือ แมกนีเซียม แร่ธาตุที่มักถูกมองข้าม แต่กลับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของร่างกายในทุกระบบ หากร่างกายขาดแมกนีเซียมไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากมายเกินกว่าที่เราจะคาดคิดได้
7 เรื่องต้องรู้ แมกนีเซียม คืออะไร ทำไมร่างกายขาดไม่ได้
แมกนีเซียมเป็นชื่อที่หลายคนอาจจะคุ้นหูกันอยู่แล้ว แต่รู้ไหมคะว่าหน้าที่ของ แมกนีเซียม คืออะไร ทำไมร่างกายเราขาดไม่ได้เลยจริง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องกล้ามเนื้อ หัวใจ สมอง หรือแม้แต่การนอนหลับลึก ๆ สบาย ๆ ในแต่ละคืน แมกนีเซียมก็มีบทบาทอยู่แทบทุกระบบของร่างกาย และทำไมเราควรให้ความสำคัญกับเจ้าแมกนีเซียมให้มากขึ้น ในบทความนี้ มีคำตอบค่ะ ลองไปดูกันเลยค่ะ
1. ช่วยย่อยอาหาร
แมกนีเซียม มีส่วนช่วยในการย่อยอาหารในร่างกายเพื่อให้อาหารสามารถผ่านระบบต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเหมาะสม เราจึงอาจพบแมกนีเซียมในผลิตภัณฑ์บางชนิดเพื่อรักษาอาการต่างๆ เช่น อาการเสียดท้องและอาหารไม่ย่อย นั่นเองค่ะ (1)
2. บรรเทาความตึงเครียดและความวิตกกังวล
นักวิจัยบางคนพบว่า แมกนีเซียมอาจช่วยปรับระดับคอร์ติซอลให้สมดุลซึ่งหมายความว่าแมกนีเซียมสามารถช่วยรักษาระดับฮอร์โมนความเครียดไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลได้ (1) และหากคุณอยู่ภายใต้ความกดดันทางร่างกายหรือจิตใจมากเกินไป ระดับแมกนีเซียมของคุณก็อาจลดลงได้เช่นกัน ดังนั้น หากได้รับแมกนีเซียมเพียงพอช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นค่ะ(3)
*คอร์ติซอล (Cortisol) คือ ฮอร์โมนสเตียรอยด์ (steroid hormone) ที่ผลิตโดยต่อมหมวกไต (adrenal glands) ทำหน้าที่สำคัญในการตอบสนองต่อความเครียดและควบคุมกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย
3. นอนหลับง่ายขึ้น
แมกนีเซียมอาจช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นโดยควบคุมสารเคมีในสมองที่เรียกว่า GABA ซึ่งมีความสำคัญต่อการนอนหลับ นอกจากนี้ยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและควบคุมระบบประสาท ซึ่งอาจทำให้คุณนอนหลับได้ดีขึ้นในเวลากลางคืนค่ะ (3)
4. ดูแลหัวใจให้เต้นเป็นปกติ
หัวใจของเราต้องอาศัยการส่งสัญญาณไฟฟ้าเพื่อให้เต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ซึ่งแมกนีเซียม“แมกนีเซียมเป็นอิเล็กโทรไลต์เช่นเดียวกับโซเดียมและโพแทสเซียม นั่นหมายความว่าแมกนีเซียมสามารถช่วยให้ระบบไฟฟ้าของร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล ถ้าขาดแมกนีเซียม อาจรู้สึกใจสั่น หรือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอได้โดยไม่รู้ตัว (1)
5. ตัวช่วยบำรุงกระดูก
เวลาพูดถึงกระดูก คนมักจะนึกถึงแคลเซียมเป็นอย่างแรก แต่ความจริงแล้วแมกนีเซียมก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยกระดูกของเรามีแมกนีเซียมสะสมอยู่มากถึง 60% ของแมกนีเซียมทั้งหมดในร่างกายเลยทีเดียว และถ้าระดับแมกนีเซียมในร่างกายต่ำลงเมื่อไหร่ ก็อาจไปรบกวนการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก (osteoblast) ทำให้กระดูกสร้างตัวได้ช้าลง ในขณะเดียวกัน ยังไปกระตุ้นให้เซลล์ที่ทำหน้าที่สลายกระดูก (osteoclast) ทำงานมากขึ้นด้วย ส่งผลให้มวลกระดูกลดลงโดยไม่รู้ตัว มีข้อมูลบางส่วนที่พบว่า คนที่มีระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ อาจมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกอย่างกระดูกพรุนสูงขึ้น และในบางกรณี การเสริมแมกนีเซียมอย่างเหมาะสมก็อาจช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและลดโอกาสกระดูกหักในระยะยาวได้ด้วยนะคะ (4)
6.ช่วยลดอาการ PMS
มีหลักฐานบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าการขาดแมกนีเซียมอาจทำให้อาการเหล่านี้แย่ลงได้ โดยเฉพาะช่วง 1–2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนจะมา ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนสูง ทำให้อารมณ์แปรปรวนหรือรู้สึกบวมน้ำได้ง่าย มีงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ พบว่าในกลุ่มนักศึกษาหญิงที่มีอาการก่อนมีประจำเดือน การเสริมแมกนีเซียม 300 มิลลิกรัมต่อวันช่วยลดอาการท้องอืดและอารมณ์แปรปรวนได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการเสริม แมกนีเซียมจึงอาจเป็นผู้ช่วยลับที่ทำให้ช่วงเวลาก่อนมีประจำเดือนของสาว ๆ สบายขึ้นได้นิดนึงค่ะ (4)
7.ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
แมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญต่อการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและการหลั่งอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย ถ้าระดับแมกนีเซียมในร่างกายสมดุล จะช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งในคนทั่วไปและในผู้ที่เป็นเบาหวาน มีข้อมูลจากหลายการศึกษาที่พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่มีระดับแมกนีเซียมในเลือดอยู่ในเกณฑ์ดี มักจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าคนที่มีแมกนีเซียมต่ำ (4)
อาการขาดธาตุ แมกนีเซียม
อาการของการขาดแมกนีเซียมในช่วงแรกอาจดูไม่ชัดเจนค่ะ เพราะหลายอย่างก็คล้ายกับอาการทั่วไปที่เกิดจากความเครียดหรือพักผ่อนไม่พอ แต่ถ้าลองสังเกตดี ๆ ร่างกายก็ส่งสัญญาณเตือนอยู่เหมือนกัน บางคนอาจรู้สึก เบื่ออาหาร กินได้น้อยลง หรือมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียนโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน บางคนรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรงง่ายแบบไม่เหมือนเคย แม้จะนอนเต็มที่ก็ตาม
ในกรณีที่ขาดแมกนีเซียมมากขึ้น อาจมี อาการกล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อสั่น หรือเป็นตะคริวบ่อยขึ้น และในบางคนอาจมี จังหวะหัวใจเต้นผิดปกติ หรือใจสั่นร่วมด้วย (2)
*การติดสุราจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดแมกนีเซียมค่ะ (2)
ใครบ้างที่ไม่ควรกินแมกนีเซียม
แมกนีเซียม ถือว่าปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่เมื่อรับกินในปริมาณที่เหมาะสมค่ะ แต่กลุ่มที่ควรระวังคือผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดแข็งตัวยาก มีแนวโน้มเป็นรอยช้ำง่าย หรือมีปัญหาเลือดออกเรื้อรัง เพราะแมกนีเซียมอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลง ในทางทฤษฎีจึงอาจเพิ่มความเสี่ยงของเลือดออกมากขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้าทานร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่แล้ว (2)
summarize
หวังว่าบทความนี้คงช่วยไขข้อสงสัยของหลาย ๆ คนได้นะคะ ว่าแมกนีเซียม คืออะไร เพราะ เจ้าแมกนีเซียม คือแร่ธาตุสำคัญมาก ๆ ที่ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังงาน การทำงานของกล้ามเนื้อ สมอง หัวใจ หรือกระดูก แมกนีเซียมก็มีส่วนร่วมอยู่ในแทบทุกกระบวนการเลยทีเดียว
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่: แมกนีเซียม
References
1.Cleveland Clinic: แมกนีเซียมทำอะไรให้ร่างกายของคุณได้บ้าง?
2.webmd: แมกนีเซียม- การใช้, ผลข้างเคียง,และอื่นๆอีกมากมาย
4.health: 8 ประโยชน์ต่อสุขภาพของแมกนีเซียม