เคยไหมคะ… ตื่นขึ้นมากลางดึก รู้สึกตัวแต่ขยับไม่ได้ หายใจก็อึดอัด ร่างกายเหมือนถูกล็อกไว้แน่นสนิท บางคนอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรหนัก ๆ มาทับ บางคนบอกว่ารู้สึกว่ามีบางอย่างอยู่ในห้อง ทั้งที่ลืมตาอยู่แล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้เลย ใครที่เคยเจอแบบนี้ น่าจะเข้าใจความรู้สึกได้ดีเลยค่ะ มันทั้งน่ากลัว ทั้งสับสน และมักจะทำให้เราเผลอคิดไปว่า “นี่เรากำลังโดนผีอำอยู่หรือเปล่า?”
รู้ไว้ไม่หลอน! “ผีอำ” เกิดจากอะไร 5 เหตุผลที่คุณต้องรู้
ความจริงแล้ว ผีอำ เกิดจากอะไรนั้น อาจไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับเสมอไปค่ะ เพราะในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายที่น่าสนใจ และเข้าใจง่ายมาก ลองมาทำความรู้จักกับ “ผีอำ” ให้มากขึ้น ผ่าน 5 เหตุผลสำคัญที่อยากให้คุณรู้ไว้ เพราะยิ่งรู้ ก็ยิ่งคลายกังวลค่ะ
1. เป็นภาวะ Sleep Paralysis ที่พบได้ในคนทั่วไป
คำว่า “ผีอำ” ที่เราเรียกกัน จริง ๆ แล้วมีชื่อในภาษาแพทย์ว่า “ภาวะอัมพาตขณะหลับ” หรือ Sleep Paralysis ค่ะ ซึ่งอาการ ผีอำ เกิดจากอะไร อาการนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายกำลังเปลี่ยนจากสภาวะหลับลึกมาเป็นการตื่น สมองบางส่วนเริ่มตื่นแล้ว แต่ร่างกายยังอยู่ในโหมดหลับ ทำให้เราขยับตัวไม่ได้ชั่วขณะ ทั้งที่มีสติรู้ตัว แม้อาการจะดูน่าตกใจ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นกลไกปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายหลายคน และไม่เป็นอันตรายค่ะ
*การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้คนประมาณ 20% เคยมีอาการอัมพาตขณะหลับอย่างน้อยครั้งหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเชื่อว่าอาการอัมพาตขณะหลับอาจเกิดจากพันธุกรรมบางส่วน
2. ความเครียดและการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
อาการผีอำมักเกิดบ่อยในช่วงที่เรานอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว เพราะความเครียดจะไปรบกวนวงจรการนอน ทำให้สมองและร่างกายทำงานไม่สัมพันธ์กันเท่าที่ควร ดังนั้นหากเรานอนหลับไม่เป็นเวลา หรือรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ ก็อาจมีโอกาสเจออาการนี้ได้ง่ายขึ้นค่ะ
3. นอนหงายอาจกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น
มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ท่านอนหงายอาจมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดผีอำ เนื่องจากในท่านี้กล้ามเนื้อบางส่วน โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจจะผ่อนคลายมากขึ้น และอาจทำให้รู้สึกอึดอัดเวลาหายใจ เมื่อเกิดภาวะอัมพาตหลับร่วมด้วย จึงยิ่งเพิ่มความรู้สึกเหมือน “โดนทับ” หรือ “หายใจไม่ออก” ขึ้นมาอย่างชัดเจนค่ะ
4. จินตนาการจากความฝันอาจแทรกเข้ามาขณะรู้สึกตัว
ในบางครั้ง ระหว่างที่เรากำลังค่อย ๆ ตื่น สมองยังคงอยู่ในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น อาจมีบางส่วนของความฝันที่ยังค้างอยู่ ซึ่งภาพ เสียง หรือความรู้สึกจากความฝันเหล่านี้ อาจหลอมรวมกับความเป็นจริงในขณะนั้น ทำให้เรารับรู้สิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริง ไม่แปลกเลยถ้าบางคนจะรู้สึกเหมือนเห็นเงา หรือได้ยินเสียงแปลก ๆ เพราะมันเป็นการซ้อนกันของจิตใต้สำนึกและความฝันที่ยังไม่จางหายดีค่ะ
5. ไม่ใช่เรื่องลี้ลับ และเกิดได้กับทุกคน
แม้คำว่า “ผีอำ” จะฟังดูน่ากลัว แต่จริง ๆ แล้วใคร ๆ ก็สามารถประสบกับอาการนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ และไม่จำเป็นต้องมีปัญหาสุขภาพจิตหรือร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายอ่อนล้า หรือมีความเปลี่ยนแปลงของเวลานอน ก็อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ชั่วคราวได้ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย และไม่มีอันตรายระยะยาวค่ะ
ผีอำ ทำไมสมจริงจัง?
บางครั้ง อาการที่เราเข้าใจว่าเป็น “ผีอำ” อาจเกี่ยวข้องกับภาวะที่เรียกว่า ประสาทหลอนขณะหลับ หรือที่บางคนเรียกว่า ความฝันขณะตื่น ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายกำลังจะเข้าสู่การหลับลึก หรือกำลังตื่นขึ้นมา ภาวะนี้พบได้ในคนทั่วไปถึงประมาณ 37% โดยมักจะเห็นภาพต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น ใบหน้า รูปร่าง หรือฉากที่เหมือนจริงราวกับกำลังฝันอยู่ บางคนอาจรู้สึกถึงการสัมผัส เช่น มีอะไรบางอย่างมาแตะตัว หรือรู้สึกเหมือนกำลังตกจากที่สูง ซึ่งอาการที่เกี่ยวกับเสียงหรือการสัมผัสจะเกิดได้น้อยกว่าภาพที่เห็น แตกต่างจากความฝันที่มักมีเรื่องราวและบทสนทนาซับซ้อน อาการประสาทหลอนขณะหลับจะมาแบบฉับพลันและกระจัดกระจาย ไม่มีโครงเรื่องชัดเจน และมักแฝงมาพร้อมกับความรู้สึกตกใจ สับสน หรือหวาดกลัวในช่วงเวลานั้น แม้จะฟังดูแปลก แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติของสมอง และไม่ใช่เรื่องผิดปกติค่ะ
คาถากัน ผีอำ
สำหรับใครที่กังวลว่าจะเป็นสิ่งลี้ลับจริง ๆ หรือไม่ เราแอบนำเอาคาถาเพื่อความสบายใจมากฝากด้วยค่ะ (ความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)
(ตั้งนะโม 3 จบ )
มะโทรัง อะตะระโร เวสะวะโน นะหากปิ ปิสาคะตาวาโหมิ
มหายักขะ เทพะอนุตะรัง เทพะดา เทพะเอรักขัง ยังยังอิติ เวสะวะนัน
ภูตัง มหาลักชามะนง มะภูอารักขะ นะพุททิมะมัตตะนัง กาลปะติทิศา
สัพเพยักขา ปะลายัตตะนิ
คาถาบทนี้ เป็นคาถาที่ช่วยขับไล่พลังงานที่ไม่ดี ถ้ารู้สึกว่าที่ ๆ อยู่มีอะไรแน่ ๆ ที่สัมผัสไม่ได้ ต้องลองสวดคาถานี้ค่ะ เพื่อความอุ่นใจ ให้ท้าวเวสสุวรรณและเหล่าเทพเทวาคุ้มครองค่ะ
summarize
สำหรับใครที่สงสัยว่า ผีอำ เกิดจากอะไร ความจริงอาจไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติอย่างที่เราเคยเชื่อกันมา แต่คือภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามกลไกของร่างกาย และมักเกิดขึ้นเมื่อเรานอนน้อย เครียด หรือร่างกายอ่อนล้าเกินไป หากเราเข้าใจมันมากขึ้น ก็จะไม่กลัวมากเหมือนเดิม และสามารถดูแลตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น นอนหลับให้พอเป็นประจำ พยายามจัดเวลาพักผ่อนให้สม่ำเสมอ และอาจลองเปลี่ยนท่านอน หากเจออาการบ่อย
อ่านบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่: Lifestyle
References
1.webmd.com: อาการอัมพาตขณะหลับ
2.wongnai: 7 คาถาไล่ผี คุ้มภัย เซฟติดไว้ให้อุ่นใจ เผื่อไปเที่ยวต่างที่ อ่านต่อได้ที่
3.Bangkok Sleep Center: “ผีอำ” โดนผีหลอก หรือแค่นอนผิดปกติ?
4.คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช: เกิดอาการผีอำบ่อยมาก