ในช่วงที่อากาศร้อนจัดหรือร่างกายอ่อนแอ ร่างกายอาจส่งสัญญาณเตือนด้วยอาการ “ร้อนใน” เช่น เจ็บคอ เป็นแผลในปาก ปากแห้ง หรือรู้สึกตัวร้อนโดยไม่มีไข้ อาการเหล่านี้บ่งบอกว่าร่างกายกำลังมีความร้อนสะสมภายในมากเกินไป
รวม 8 เครื่องดื่ม แก้ร้อนใน คลายร้อนทันใจ
การเลือกดื่ม เครื่องดื่ม แก้ร้อนใน เป็นอีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยปรับสมดุลร่างกายให้กลับมาแข็งแรง สดชื่น ยิ่งในช่วงอากศร้อน ๆ แบบนี้ด้วย ในบทความนี้ได้รวบรวมมาให้แล้ว 8 เครื่องดื่มแก้ร้อนในที่ทั้งอร่อย ดื่มง่าย แถมหาไม่ยาก จะมีอะไรบ้าง ติดตามได้เลยค่ะ
1. น้ำเก๊กฮวย
เก๊กฮวยมีสรรพคุณทางยาตามตำราแพทย์แผนจีน ช่วยขับลมและความร้อนออกจากร่างกาย บำรุงและชำระล้างตับ บำรุงสายตา และลดภาวะร้อนใน จึงสามารถบรรเทาอาการต่างๆ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ และปากขม หรือร้อนในได้ นอกจากจะช่วยเรื่องดับร้อนแล้ว เก๊กฮวยยังเป็นสมุนไพรสำคัญที่นิยมใช้ในตำรับยาแผนจีนเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตา โดยเฉพาะพวกอาการตาแห้งต่าง ๆ อีกด้วยนะคะ (4)
2. น้ำใบบัวบก
น้ำใบบัวบกไม่ได้มีดีแค่แก้ช้ำใน แต่ยังเหมาะสำหรับการแก้ร้อนในด้วย ใบบัวบกมีฤทธิ์เย็นตามธรรมชาติ แถมยังมีการวิจัยแสดงให้เห็นว่าใบบัวบกอาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและลดอาการบวมในผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดดำไม่เพียงพอได้อีกด้วยนะคะ (5)
3. น้ำมะพร้าว
มะพร้าวถูกนำมาใช้ในอาหารไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากมะพร้าวจะหาได้ง่ายแล้ว น้ำมะพร้าวยังอุดมไปด้วยอิเล็กโทรไลต์และวิตามิน (6) ช่วยคืนสมดุลน้ำในร่างกายที่เสียไปจากความร้อน ช่วยลดความกระหาย และขับของเสียได้ดี นอกจากนี้น้ำมะพร้าวยังมีฤทธิ์เย็น ช่วยคลายร้อน และเสริมการทำงานของไตในการขับของเสียออกทางปัสสาวะ
4. น้ำมะตูม
มะตูมช่วยให้เจริญอาหาร แก้กระหายน้ำ แก้ท้องเสีย ท้องร่วงเรื้อรังในเด็ก (7) การดื่มน้ำมะตูมเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และป้องกันอาการขาดน้ำ เช่น อาการอ่อนเพลียและเวียนศีรษะ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงอากาศร้อนได้ (8)
5. น้ำกระเจี๊ยบ
น้ำกระเจี๊ยบมีรสเปรี้ยวอมหวานและฤทธิ์เย็น ช่วยลดความร้อนในร่างกาย ช่วยดับกระหายน้ำ แถมยังช่วยลดไข้ แก้ไอ แก้เสมหะขับน้ำดี รวมทั้งขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและในไต แนะนำให้จับคู่ต้มรวมกับสมุนไพรอื่น เช่น พุทราจีน (รสฝาดและหวานมาช่วยตัดรสเปรี้ยว) มะตูม เป็นต้น (1)
6. น้ำมะระผสมส้ม
แม้ว่าจะฟังดูแปลก ๆ แต่เป็น เครื่องดื่ม แก้ร้อนใน สูตรดีของชาวจีนค่ะ เพราะในช่วงฤดูร้อน ร่างกายมักอ่อนเพลีย ร้อน และรู้สึกไม่สบายตัว การดื่มน้ำมะระมีส่วนช่วยคลายความร้อนและบรรเทาภาวะที่เกิดจากความร้อนภายใน สารไกลโคไซด์ที่พบในมะระได้รับการยอมรับว่ามีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบ และในมุมมองของแพทย์แผนจีน รสขมมีความสัมพันธ์กับอวัยวะหัวใจ มีฤทธิ์ในการขับความร้อนและบรรเทาไฟ ซึ่งภาวะร้อนเกินนี้มักเชื่อมโยงกับการอักเสบ แนะนำให้ส้มเข้ากับมะระ นอกจากจะช่วยลดความขมลงแล้ว ส้มยังมีสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยเสริมฤทธิ์ในการต้านการอักเสบอีกด้วย (10)
7. น้ำสาลี่
สาลี่ ผลไม้ฤทธิ์เย็น เพิ่มสารน้ำความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย สาลี่ช่วยขับร้อน บำรุงปอด ขจัดเสมหะ แก้ไอ นอกจากจะเหมาะกับหน้าร้อนแบบนี้แล้ว ยังเหมาะสำหรับเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ปอดพร่อง ปอดทำงานไม่ปกติ หายใจไม่สะดวก ไอแห้งๆ ด้วยนะคะ ชาวจีนนิยมนำสาลี่มาปรุงอาหารได้ทั้งแบบคาวหวาน ดังนั้นจะดื่มเป็นน้ำหรือตุ๋นเป็นของหวานก็ดีค่ะ (11)
8. น้ำแตงโมปั่น
น้ำแตงโมปั่นเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับการคลายร้อนและแก้ร้อนใน แตงโมมีน้ำมากถึง 90% และมีสารไลโคปีน (Lycopene) สูง (3) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย แตงโมยังมีฤทธิ์เย็นตามธรรมชาติ ช่วยลดอุณหภูมิภายในได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเติมความสดชื่นในวันที่อากาศร้อนจัด
ร้อนในขาดวิตามินอะไร
อาการ “ร้อนใน” หรือแผลในปาก (Canker sores) มักเกี่ยวข้องกับการขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของเยื่อบุช่องปากและระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจมาจากการขาดวิตามิน B12 มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับการเกิด “แผลร้อนใน” หรือ “แผลในปาก” (Canker sores) เพราะวิตามิน B12 มีบทบาทสำคัญในการสร้างเซลล์ใหม่ บำรุงเยื่อบุในช่องปาก และเสริมภูมิคุ้มกัน หากขาดวิตามิน B12 ร่างกายจะซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้ช้าลง และเกิดการอักเสบง่ายขึ้น จึงมีโอกาสเป็นร้อนในได้บ่อยกว่าปกติ (9)
เก๊กฮวยสามารถช่วยแก้ร้อนในได้หรือไม่
แน่นอนค่ะ เก๊กฮวยสามารถช่วยแก้ร้อนในได้ โดยเฉพาะในบริบทของแพทย์แผนจีน ซึ่งถือว่าเก๊กฮวยเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยขับความร้อนภายในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ป้องกันตับ และต่อต้านแบคทีเรียอีกด้วย (12)
สรุป
การดื่ม เครื่องดื่มแก้ร้อนใน เป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยในการดูแลสุขภาพในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอหรืออากาศร้อนจัด นอกจากช่วยบรรเทาอาการไม่สบายแล้ว ยังเสริมสร้างความสดชื่น กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด และฟื้นฟูสมดุลของร่างกาย อย่าลืมดูแลตัวเองให้ครบถ้วนด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และดื่มน้ำสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและพร้อมรับมือกับทุกสภาพอากาศนะคะ
อ่านบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่: Lifestyle
แหล่งอ้างอิง
1.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) : ดื่มอะไร? ดับร้อน (ใน)
2.pptvhd36: 6 เครื่องดื่มสมุนไพร “แก้ร้อนใน” ฤทธิ์เย็นอุดมประโยชน์ปรับสมดุลร่างกาย
3.USDA กระทรวงเกษตรอเมริกา : แตงโมมีไลโคปีนในปริมาณสูง
4.สำนักข่าวซินหัว: คุณกำลังดื่มชาสมุนไพรเพื่อลดความร้อนได้ดีหรือไม่?
5.Health: ประโยชน์ต่อสุขภาพของใบบัวบก
6.สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้: วิธีคลายร้อนแบบไทยโบราณ
7.มูลนิธิหมอชาวบ้าน: น้ำสมุนไพร
8.INDIA TODAY: 10 ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการดื่มน้ำมะตูมช่วงหน้าร้อน
9.verywellhealth : วิตามินบีสามารถป้องกันแผลในช่องปากได้หรือไม่?