โรคเก๊าท์ (Gout) เป็นภาวะข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสะสมของกรดยูริกในร่างกาย กรดยูริกนี้เป็นผลพลอยได้จากการย่อยสลายสารพิวรีน (purine) ซึ่งพบได้ทั่วไปในอาหาร โดยเมื่อมีมากเกินไปจนร่างกายขับออกไม่ทัน กรดยูริกจะตกผลึกในข้อ ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน และรู้สึกเจ็บอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะที่ข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า
เป็นเก๊าท์ ห้ามกินอะไร 6 อย่าง ที่คนเป็นเก๊าท์ต้องใจแข็ง
แม้โรคเก๊าท์จะสามารถควบคุมได้ด้วยยาม แต่อาหารก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการกำเริบของอาการ แล้ว เป็นเก๊าท์ ห้ามกินอะไร กันนะ ในบทความนี้จะพาไปรู้จัก 6 อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง หากคุณเป็นโรคเก๊าท์ หรือมีแนวโน้มจะเป็น เพื่อให้การดูแลสุขภาพทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดค่ะ
1. เครื่องในสัตว์
เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต หัวใจ และม้าม ถือเป็นแหล่งพิวรีนเข้มข้น ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะผ่านกระบวนการเผาผลาญและเปลี่ยนไปเป็นกรดยูริกในปริมาณสูง (1) การทานเครื่องในแม้เพียงปริมาณเล็กน้อยก็ไม่ควรค่ะ เนื่องจากอาจกระตุ้นให้ระดับกรดยูริกในเลือดพุ่งขึ้น และนำไปสู่การอักเสบเฉียบพลันของข้อได้โดยง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายอ่อนล้า หรือดื่มน้ำน้อย อาการเจ็บที่ข้ออาจรุนแรงจนเดินไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น
2. อาหารทะเลบางชนิด
อาหารทะเลหลายชนิดมีระดับพิวรีนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกลุ่มปลาเนื้อเข้มและสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาทู กุ้ง ปลาหมึก หอย และปู ควรหลีกเลี่ยง เพิ่มความเสี่ยงต่อการกำเริบของอาการปวดข้อโดยไม่รู้ตัว(1)
*แต่ก็สามารถทานปลาและหอยบางชนิดได้ในปริมาณเล็กน้อย และควรจำกัดให้รับประทานไม่เกิน 6 ออนซ์ต่อวัน (4) เช่น ปลาแซลมอนในปริมาณที่พอเหมาะได้ เนื่องจากมีปริมาณพิวรีนต่ำกว่าปลาชนิดอื่น (3)
3. เนื้อแดง
เนื้อแดง ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อแกะ (2) เป็นแหล่งโปรตีนที่มีพิวรีนในระดับปานกลางถึงสูง โดยเฉพาะเนื้อส่วนติดมันและเนื้อที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน ซึ่งมักมีทั้งพิวรีนสูงและไขมันอิ่มตัวมาก
4. เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ ถือเป็นตัวการสำคัญที่มีผลต่อผู้ป่วยโรคเก๊าท์ทั้งทางตรงและทางอ้อม และในขณะเดียวกัน แอลกอฮอล์ยังส่งผลให้ลดการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย (3) นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ ซึ่งภาวะขาดน้ำนี้จะเพิ่มความเข้มข้นของกรดยูริกในเลือดได้นั่นเองค่ะ
*ไวน์ ถือว่า “ปลอดภัย” หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับผู้ที่มีประวัติหรือมีความเสี่ยงต่อการมีกรดยูริกสูง (4)
5. น้ำตาลฟรุกโตสสูง
ฟรุกโตสมักพบในน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผลไม้เข้มข้น ขนมหวาน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ น้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดฟรุกโตสสูง (high-fructose corn syrup) ซึ่งพบได้ทั่วไปในเครื่องดื่มบรรจุขวดและขนมบรรจุซอง เมื่อร่างกายผลไม้บางชนิดมีฟรุกโตสสูงตามธรรมชาติ เช่น เช่น แอปเปิล ลูกแพร์ มะม่วง มะกอก แตงโม ผลไม้เหล่านี้คนเป็นเก๊าท์จึงควรหลีกเลี่ยงค่ะ (2), (4)
6. อาหารหมักดองและยีสต์
อาหารที่ผ่านกระบวนการหมัก เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว มิโสะ ซุปก้อน กิมจิ และขนมปังบางประเภทที่ใช้ยีสต์มาก ล้วนมีแนวโน้มจะมีพิวรีนในระดับปานกลางถึงสูง ขึ้นอยู่กับส่วนผสมและระยะเวลาที่ใช้ในการหมัก (4)
กรดยูริคสูง ต้องกินอะไร
สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ “ดื่มน้ำให้มากพอ” ควรดื่มประมาณวันละ 8–16 แก้ว และอย่างน้อยครึ่งหนึ่งควรเป็นน้ำเปล่าล้วนๆ เพราะไตของเราต้องใช้น้ำในการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ แถมน้ำยังช่วยให้ไตทำงานได้ดีขึ้นด้วย
เป็นเก๊าท์กินกาแฟได้ไหม
ดื่มได้ค่ะ กาแฟก็มีส่วนช่วยลดกรดยูริกได้เช่นกัน เพราะคาเฟอีนช่วยกระตุ้นการขับกรดยูริก แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่พอดี ดื่มมากเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน (2), (4)
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่: กระเทียม
สรุป
โรคเก๊าท์ อาจดูเหมือนเรื่องเล็กในช่วงที่ไม่มีอาการ แต่หากเผลอทานอาหารบางอย่างเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ก็อาจทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันที่สร้างความเจ็บปวดและกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ไม่น้อย การใส่ใจเลือกอาหารจึงเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้เลย โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องใน เนื้อแดง อาหารทะเลบางชนิด รวมถึงการงดแอลกอฮอล์ น้ำตาลฟรุกโตส และอาหารหมักดองบางประเภท ก็จะช่วยให้ควบคุมระดับกรดยูริกได้ดีขึ้น แม้จะต้อง “ใจแข็ง” กับของโปรดอยู่บ้าง แต่เพื่อสุขภาพข้อที่แข็งแรงในระยะยาว การค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมการกิน ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากเลยนะคะ
แหล่งอ้างอิง
1.mayoclinic: อาหารสำหรับโรคเกาต์: อะไรที่ทำได้ อะไรทำไม่ได้
2.webmd: อาหารสำหรับโรคเกาต์คืออะไร?
3.mountelizabeth: การใช้ชีวิตกับโรคเกาต์: สิ่งที่ควรกินและควรหลีกเลี่ยง
4.verywellhealth: อาหารอะไรบ้างที่คุณควรหลีกเลี่ยงเมื่อเป็นโรคเกาต์?