โพรไบโอติก (Probiotics) คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจุลินทรีย์ชนิดดี เมื่อเราได้รับในปริมาณที่เหมาะสม อยู่ภายในลำไส้ของเรา ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย
โพรไบโอติก ดีไหม ส่อง 6 ประโยชน์ลับที่รู้แล้วต้องว้าว
สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย แล้วกำลังมองหาตัวช่วยดี ๆ อาจมีคำถามว่า โพรไบโอติก ดีไหม เพราะเจ้าสิ่งนี้ก็คงจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรก ๆ ที่ผุดขึ้นมาในใจ ดังนั้น บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึก 6 ประโยชน์ลับของโพรไบโอติกที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน อยากรู้ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ!
1. บรรเทาอาการท้องร่วงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ
อาการท้องเสียเล็กน้อยหรือรุนแรงเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ดีมักจะถูกกดไว้ ทำให้เชื้อก่อโรคฉวยโอกาสหรือเชื้อก่อโรคเติบโตมากเกินไป การเติบโตของเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบในลำไส้ หรือสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมา การทานโพรไบโอติกช่วยทดแทนจุลินทรีย์ดีที่ถูกทำลายไป และทำให้สภาวะในลำไส้กลับมาสมดุลเร็วขึ้น มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่าการใช้ โพรไบโอติก ช่วยลดความเสี่ยงของอาการท้องร่วงที่เกี่ยวข้องกับยาปฏิชีวนะ (2)
2.บรรเทาอาการท้องผูกและท้องเสียได้
จากการศึกษาที่ทำในกลุ่มผู้มีอาการท้องผูก จำนวน 153 คน พบว่า การรับประทานโพรไบโอติกสูตรผสมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ช่วยเพิ่มความถี่ในการขับถ่ายต่อสัปดาห์ และช่วยปรับปรุงคุณภาพของอุจจาระให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า คนที่รับประทานโพรไบโอติกเป็นประจำมีแนวโน้มป่วยเป็นหวัดน้อยลง และฟื้นตัวเร็วขึ้นเมื่อเจ็บป่วย (3)
3. ช่วยปรับสมดุลระบบย่อยอาหาร
โพรไบโอติก ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยปรับสมดุลลำไส้ ให้มีสุขภาพดี ลดการอักเสบของลำไส้ และปรับปรุงสุขภาพของเยื่อบุลำไส้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคไอบีเอส (IBS : Irritable Bowel Syndrome) หรือโรคลำไส้แปรปรวน (4)
4. ส่งผลดีต่อสุขภาพผิวพรรณ
มีการค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพลำไส้กับผิวหนังที่เรียกว่า “Gut-Skin axis” โดยพบว่าคนที่มีปัญหาผิว เช่น สิว ผื่น ผิวแพ้ง่าย หรือโรคผิวหนังอักเสบ อาจมีภาวะเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ร่วมด้วย โพรไบโอติกช่วยลดการดูดซึมของสารพิษ หรือสารก่ออักเสบเข้าสู่กระแสเลือด และลดปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลต่อผิวหนัง ทำให้ผิวดูเรียบเนียนขึ้น มีความชุ่มชื้น (6)
5. ตัวช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
ความจริงแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของเราส่วนใหญ่อยู่ในลำไส้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ถึงสำคัญมากต่อสุขภาพ โพรไบโอติกช่วยเสริมให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น ปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม เสริมสร้างผนังลำไส้ให้แข็งแรง และช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ (5)
6. ส่งเสริมสุขภาพจิตและอารมณ์
นอกเหนือจากประโยชน์โดยตรงต่อสุขภาพลำไส้แล้ว โพรไบโอติกส์ยังอาจส่งผลดีต่อสุขภาพสมองของเราได้โดยอ้อม ผ่านการทำงานของลำไส้นะคะ เพราะลำไส้และสมองของเรามีความเชื่อมโยงสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด ผ่านระบบที่เรียกว่า ‘แกนลำไส้-สมอง’ (Gut-Brain axis) ค่ะ การสื่อสารนี้เกิดขึ้นผ่านสัญญาณทางชีวเคมี และเส้นประสาทสำคัญอย่างเส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve) ลำไส้ของเราสามารถผลิตสารสื่อประสาทสำคัญๆ ที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกได้หลายชนิด เช่น เซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขกว่า 90% ก็ถูกสร้างขึ้นในระบบทางเดินอาหารของเรานี่เองค่ะ ดังนั้นการดูแลสุขภาพลำไส้ให้ดี จึงอาจเป็นหนทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพสมอง และอารมณ์ของเราให้ดีไปด้วยค่ะ (7)
อะไรทำลายโพรไบโอติก
กรดในกระเพาะอาหาร อาจทำลายโพรไบโอติกก่อนที่จุลินทรีย์จะไปถึงลำไส้ ซึ่งเป็นบริเวณที่โพรไบโอติกทำหน้าที่หลัก การรับประทานร่วมกับอาหาร โดยเฉพาะมื้อที่มีไขมันดีเล็กน้อย จะช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะ เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของจุลินทรีย์ดีเหล่านี้ให้มากขึ้นค่ะ (8)
โพรไบโอติก ช่วยอะไรผู้หญิง
ช่องคลอด ก็เป็นแหล่งอาศัยของจุลินทรีย์หลากหลายชนิด โดยเฉพาะแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส ที่มีบทบาทในการรักษาสมดุลภายในช่องคลอด ซึ่งหากจุลินทรีย์เหล่านี้เสียสมดุลมากเกินไป อาจนำไปสู่ปัญหาทางนรีเวชต่างๆ ได้ โดยโพรไบโอติกมีส่วนช่วยในการป้องกัน และฟื้นฟูความสมดุลดังกล่าว โดยเฉพาะในภาวะอย่างการติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อรา การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น (9)
สรุป
สำหรับบทความนี้คงเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า โพรไบโอติก ดีไหม ได้ไม่น้อยนะคะ โพรไบโอติก เป็นหัวใจสำคัญของสมดุลลำไส้ และสุขภาพร่างกายโดยรวม ช่วยปรับปรุงการขับถ่าย ฟื้นฟูผนังลำไส้ ลดการอักเสบ และส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ดี อย่างไรก็ดี ความร้อน กรดในกระเพาะ หรือยาปฏิชีวนะอาจทำลายโพรไบโอติกได้ การทานพร้อมอาหาร (โดยเฉพาะที่มีไขมันดี) จึงเป็นเคล็ดลับเพิ่มอัตราการรอด นอกจากนี้ บางสายพันธุ์ยังเด่นเรื่องช่วยดูแลสุขภาพช่องคลอด และลดความเสี่ยงปัญหานรีเวชด้วยค่ะ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่น่าสนใจ สำหรับสายรักสุขภาพได้เลยทีเดียว
แหล่งอ้างอิง
- Probiotics
- Health Benefits of Probiotics: A Review
- The effect of probiotics on functional constipation in adults: A randomized, double-blind controlled trial
- Health Benefits of Probiotics
- Health Benefits of Probiotics
- The Role of Probiotics in Skin Health and Related Gut–Skin Axis: A Review
- Probiotics may help boost mood and cognitive function
- What Kills Probiotics in Your Gut and How to Protect Them
- Probiotics for Women: What are the benefits?