จ-ศ 08:00 น. -17:00 น.

อาการความดันสูง เฉียบพลัน ภัยเงียบที่คุณอาจมองข้าม

อาการความดันสูง เฉียบพลัน ภัยเงียบที่คุณอาจมองข้าม

สารบัญเนื้อหา

ความดันโลหิตสูงเฉียบพลัน คือ ภาวะที่ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันและรุนแรง โดยค่าความดันโลหิตจะอยู่ที่ 180/120 มิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท) หรือมากกว่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้ว ความดันภายในร่างกายเรา จะต้อง ไม่เกิน 120/80 ม.ม. ปรอท ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงเฉียบพลันนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 

อาการความดันสูง เฉียบพลัน ภัยเงียบที่คุณอาจมองข้าม

การเกิดภาวะ อาการความดันสูง เฉียบพลัน อาจมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดยาควบคุมความดันทันที การเจ็บป่วยเฉียบพลัน เช่น ภาวะไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ นอกจากนี้ ความเครียดหรือการใช้สารกระตุ้น เช่น แอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือคาเฟอีนมากเกินไปก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว การละเลยการทานยาหรือการปรับเปลี่ยนยากะทันหัน อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงเฉียบพลันได้เช่นกันค่ะ บทความนี้เราจะพามาดู วิธีการป้องกันโรคดังกล่าวกันค่ะ

อาการของภาวะความดันสูงเฉียบพลัน 

  • อาการเจ็บหน้าอก
  • มองเห็นพร่ามัว
  • ใจสั่น  เลือดกำเดาไหล 
  • อาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น 
  • อาการชัก
  • อาการปวดศีรษะรุนแรง
  • อาการหายใจไม่สะดวก

ผลกระทบที่ตามมาจากอาการความดันโลหิตสูงเฉียบพลัน

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการความดัน สูงเฉียบพลันสามารถทำลายอวัยวะสำคัญของร่างกายและก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ภาวะนี้ส่งผลกระทบกับระบบต่าง ๆ ของร่างกายอย่างรุนแรง

1.หัวใจ

ความดันโลหิตสูงเฉียบพลันทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นอย่างทันที หัวใจจึงเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน  ทำให้หลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจอุดตัน หัวใจไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เนื้อเยื่อหัวใจตายและเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดตามมา

2.สมอง

ความดันโลหิตที่พุ่งสูงขึ้นสามารถทำให้เกิด ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก (Stroke) โดยตรง ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะที่อันตรายที่สุด อาจเป็นอัมพาตได้ในทันที หากเป็นหนักอาจทำให้เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตถาวร ส่งผลระยะยาวต่อการชีวิต

3.ไต

ระบบการกรองของเสียและการควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือในร่างกายทำงานผิดปกติ ความเสียหายนี้อาจนำไปสู่ ภาวะไตวายเฉียบพลัน หากรุนแรงอาจทำให้ไตหยุดทำงานในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องพึ่งพาการฟอกไต หรือการปลูกถ่ายไตในอนาคต

4. ระบบหลอดเลือด

ความดันที่มากเกินไปอาจทำให้หลอดเลือดมีการฉีกขาด อุดตัน หรือเกิดภาวะโป่งพองของหลอดเลือด (Aneurysm) ซึ่งเป็นภาวะที่ผนังหลอดเลือดบางลงและขยายออกมา หากหลอดเลือดโป่งพองแตก จะทำให้เกิดภาวะเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต

5.ปอด

ภาวะความดันโลหิตสูงเฉียบพลันอาจส่งผลให้เกิด ภาวะปอดบวมน้ำ ซึ่งเป็นสภาวะที่มีของเหลวสะสมในปอดมากเกินไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบากอย่างเฉียบพลัน หายใจมีเสียงหวีดหรือเสียงครืดคราด ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาทันที

การป้องกันภาวะความดันสูงเฉียบพลัน

การป้องกัน อาการความดันสูง เฉียบพลัน เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูงหรือผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคความดัน ซึ่งการป้องกันสามารถทำได้หลายวิธี ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพ

1. ควบคุมการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะความดันโลหิตสูงควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเองหรือปรับปริมาณยาด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะการหยุดยากะทันหันอาจทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงจนเกิดภาวะเฉียบพลันได้

2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

การควบคุมอาหารเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและควบคุมความดันโลหิต:

  • ลดการบริโภคเกลือและโซเดียม: การบริโภคเกลือในปริมาณสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง หรืออาหารที่ผ่านการหมักดอง
  • รับประทานผักและผลไม้: อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย มันฝรั่ง ผักใบเขียว  รวมถึง กระเทียม  สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ 
  • หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว: การลดการบริโภคไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง อาหารทอด จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะความดันโลหิตสูง

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมความดันโลหิต แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

  1. ลดความเครียด

ความเครียดสามารถทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การจัดการกับความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อความเครียดลดน้อยลง จะช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นความดันโลหิต หรือการทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการลดความเครียดได้

5. นอนหลับให้เพียงพอ

การนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือการนอนหลับไม่ดีอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น การนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืนเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงการใช้สารกระตุ้นเช่น คาเฟอีนในช่วงก่อนนอนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น

หากคุณมีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงหรือได้รับการวินิจฉัยแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เป็นประจำเพื่อรับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการรักษา การติดตามสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกัน อาการความดันสูง เฉียบพลัน ได้ 

ความดันขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นเพราะอะไร

ภาวะความดันโลหิตที่ขึ้น ๆ ลง ๆ หรือมีความผันผวนอย่างต่อเนื่องสามารถเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเรื่องปกติชั่วคราว แต่ในบางกรณีก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการดูแล ปัจจัยที่อาจทำให้ความดันโลหิตขึ้น ๆ ลง เช่น ความเครียด วิตกกังวล หรือการตื่นเต้นสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ชั่วคราว หรือการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว เช่น จากท่านั่งเป็นท่ายืน หรือจากท่านอนเป็นท่านั่ง สามารถทำให้ความดันโลหิตผันผวนได้ชั่วคราว อาจเกิดอาการหน้ามืดหรือเวียนหัวเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากการที่เลือดต้องปรับการไหลเวียนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงท่าทาง เป็นต้น หากคุณมีอาการความดันโลหิตขึ้นๆ ลงๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ แพทย์อาจทำการตรวจร่างกาย ตรวจวัดความดันโลหิต และอาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจคลื่นหัวใจ เพื่อวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา

วิธีปฐมพยาบาลความดันสูง

การฝึกหายใจ: การหายใจช้าๆ และลึกๆ สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ ลองหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นไว้สักครู่ก่อนปล่อยออก ทำซ้ำกันสักสองสามนาทีเพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย

นอนลง: การนอน สามารถช่วยให้คุณผ่อนคลายได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นและลดความดันโลหิตได้ ลองนองประมาณ 10 นาที เพื่อปรับให้บรรเทาอาการ

อาบน้ำ: น้ำสามารถช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดความเครียดได้ แต่มีข้อควรระวัง ไม่ควรอาบน้ำเย็นจัดหรือร้อนจัดเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน อาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้ค่ะ ควรเลือกอุณหภูมิที่พอเหมาะ

ดื่มน้ำ: การขาดน้ำสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ การดื่มน้ำสามารถช่วยให้บรรเทาความดันโลหิตสูงให้กลับมาสมดุลลงได้ค่ะ

สรุป

การป้องกัน อาการความดันสูง เฉียบพลัน สามารถทำได้โดยการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย ลดความเครียด และรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ 

 

แหล่งที่มา

คอมเมนต์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ