โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์มีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย จัดเป็น “แบคทีเรียดี” ที่พบได้ตามธรรมชาติในอาหารบางชนิด เช่น โยเกิร์ต กิมจิ หรือในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เมื่อเรารับประทานเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสม จะไปอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม
โพรไบโอติก ช่วยเรื่องอะไร 7 อย่าง เบื้องหลังสุขภาพที่ดีที่มักถูกมองข้าม
“โพรไบโอติก” เป็นคำที่เราคุ้นกันมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่หลายคนยังสงสัยก็คือ โพรไบโอติก ช่วยเรื่องอะไร ได้บ้างกันแน่? หลายคนอาจรู้ว่าเกี่ยวกับลำไส้หรือระบบย่อยอาหาร แต่ในความเป็นจริง โพรไบโอติกมีบทบาทลึกซึ้งกว่านั้นมาก ในบทความนี้เราจะพาไปดูประโยชน์ที่น่าสนใจของโพรไบโอติกกัน จะมีอะไรบ้างนั้นตามมาดูกันเลยค่ะ
1. ช่วยฟื้นฟูตับ
แบคทีเรียในลำไส้มีความสำคัญต่อสุขภาพตับ โดยเฉพาะในโรคตับไขมันที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (NAFLD) ที่พบในทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีงานวิจัยทางคลินิกพบว่า โพรไบโอติกเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ช่วยฟื้นฟูสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ และพบว่าสามารถใช้เป็นการรักษาเดี่ยวหรือร่วมกับวิธีอื่นๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคตับไขมัน ซึ่งพบว่าสามารถ ทำให้สุขภาพตับของผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังดีขึ้นได้ค่ะ (1)
2. ช่วยลดการอักเสบในโรคหัวใจ
การศึกษาพบว่า โพรไบโอติก ช่วยลดการอักเสบในผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะในภาวะหัวใจล้มเหลว ด้วยการเพิ่มการทำงานของเซลล์ทีควบคุม (Tregs) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการอักเสบในร่างกาย โพรไบโอติก ยังช่วยลดความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจในภาวะขาดเลือดและส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เป็นประโยชน์ สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ Bifidobacterium animalis subsp. lactis 420 และ Lactobacillus rhamnosus GR-1 (1)
3. ส่งเสริมการนอนหลับ
ลำไส้และสมองสื่อสารกันผ่าน “แกนลำไส้-สมอง” ซึ่งเชื่อมระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ และภูมิคุ้มกันเข้าด้วยกัน ซึ่งจุลินทรีย์ในลำไส้มีส่วนสำคัญในการสื่อสารนี้ โดยสร้างสารตั้งต้นที่เปลี่ยนเป็นสารสื่อประสาทซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และการรับรู้ของเรา มีการศึกษาพบว่า การทานโพรไบโอติกช่วยให้นอนหลับดีขึ้นทั้งในผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนล้าเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง และนักศึกษาแพทย์ที่เครียด ที่น่าสนใจคือ โพรไบโอติกยังช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับในคนที่มีสุขภาพดีได้เช่นกัน (2)
4. บรรเทาอาการภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้กำลังเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่พบผู้ป่วยมากถึง 40% ของประชากร โพรไบโอติกหลายสายพันธุ์สามารถช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ เช่น แลคโตบาซิลลัส F19 ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ระยะเริ่มต้น ขณะที่ B. breve M-16V ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีฤทธิ์ต้านภูมิแพ้สูงที่สุด นอกจากนี้ L. rhamnosus GG ช่วยลดอาการหอบหืด ลดการอักเสบในปอด และลดการสร้างสารที่กระตุ้นการแพ้ โดยโพรไบโอติกทำงานโดยปรับสมดุลเซลล์ภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้นั่นเองค่ะ (1)
5. ฟื้นฟูร่างกายหลังป่วยหรือผ่าตัด
โพรไบโอติกมีประโยชน์หลายด้านสำหรับผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด โดยช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งเสริมการหายของแผล และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ ยังช่วยลดโอกาสเกิดการติดเชื้อทั่วไป ในบางกรณียังช่วยป้องกันอาการท้องเสียที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะระหว่างการรักษาอีกด้วย (3)
6. ช่วยควบคุมโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์
มีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของจุลินทรีย์ในลำไส้ ต่อการพัฒนาโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์ พบว่าการทำงานของลำไส้ที่เปลี่ยนแปลงไปมักเกิดขึ้นก่อนที่จะปรากฏอาการทางระบบประสาท จุลินทรีย์ในลำไส้ที่เสียสมดุลอาจนำไปสู่การอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดโรค ดังนั้นการดูแลสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้อาจเป็นแนวทางใหม่ในการป้องกันและรักษาโรคทางระบบประสาท (1)
7. ช่วยลดกลิ่นปาก
กลิ่นปากนับเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป ซึ่งเกิดจากโมเลกุลระเหยที่ผลิตโดยแบคทีเรียบางชนิดในช่องปาก โดยเฉพาะแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนที่ย่อยสลายโปรตีนและสร้างสารประกอบซัลเฟอร์ระเหยอันเป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของโพรไบโอติกบางสายพันธุ์ เช่น Weissella cibaria ในการช่วยจัดการปัญหานี้ โดยโปรไบโอติกดังกล่าวสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่สร้างกลิ่นและลดการผลิตสารประกอบซัลเฟอร์ที่มีกลิ่นลงได้ การใช้โปรไบโอติกจึงอาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีประโยชน์ในการช่วยบรรเทาปัญหากลิ่นปากค่ะ (1)
โพรไบโอติก กินทุกวันได้ไหม
แนะนำให้ทานทุกวันเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดค่ะ เพราะการทานอย่างต่อเนื่องทุกวันจึงช่วยรักษาสมดุลของแบคทีเรียดีๆ ในระบบทางเดินอาหารของเราได้อย่างสม่ำเสมอค่ะ (4)
โพรไบโอติก อยู่ในอาหารอะไร
เราสามารถเสริมโพรไบโอติก ได้จากอาหารหมักดองหลากหลายชนิดค่ะ เช่น โยเกิร์ต คีเฟอร์ คอมบูชา ซาวเคราต์ ผักดอง มิโสะ เทมเป้ กิมจิ ขนมปังซาวโดว์ และชีสบางประเภท (5) ซึ่งนอกจากเราจะทราบกันแล้วว่า โพรไบโอติก ช่วยเรื่องอะไร กันแล้ว อีกตัวที่จำเป็นต่อลำไส้ไม่แพ้กันก็คือไฟเบอร์ แต่บางครั้งการทานอาหารเพื่อให้ได้ทั้งโพรไบโอติกและไฟเบอร์ให้เพียงพอในแต่ละวันก็อาจจะยากหน่อย โชคดีที่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคุณภาพดี ให้เลือกหลากหลาย ก็เป็นอีกทางเลือกที่สะดวกมากๆ ในการช่วยเสริมสุขภาพลำไส้ของเราให้แข็งแรงค่ะ
สรุป
ดังนั้นคำถามที่ว่า โพรไบโอติก ช่วยอะไร คำตอบอาจจะไม่ได้อยู่แค่ในระบบย่อยอาหารอย่างที่เราคิดอีกต่อไป มันคือผู้ช่วยตัวเล็ก ๆ ที่ดูแลสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน ตั้งแต่ฮอร์โมน สมาธิ จนถึงกระดูก และบางทีสุขภาพดีอาจไม่ได้เริ่มจากอะไรซับซ้อน แค่เริ่มดูแลสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้ในลำไส้ให้ดีก็อาจทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงได้แล้วค่ะ
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่: Probiotic
แหล่งอ้างอิง
2.Effects of Probiotics on Cognitive Reactivity, Mood, and Sleep Quality
3.Why Give My Surgical Patients Probiotics