เปิดรายละเอียด Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษี 2568
ในช่วงต้นปีแบบนี้ หลายคนคงเริ่มคิดถึงเรื่องยื่นภาษีกันแล้วใช่ไหม? ในบทความนี้เรานำเอา รายละเอียด Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษี 2568 มาฝากกัน สบายใจได้เลยว่าเข้าใจง่ายไม่ยากอย่างที่คิด จะมีอะไรบ้างนั้น ลองไปดูกันเลยครับ
Easy E-receipt 2.0 คืออะไร ?
Easy E-receipt 2.0 คือ มาตรการลดหย่อนภาษี 2568 เดิมรู้จักกันในชื่อ “ช้อปดีมีคืน” โดยมีวัตถุประสงค์ คือการคือการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและขยายฐานผู้เสียภาษีผ่าน e-tax Invoice และ e-Receipt โดยให้เฉพาะผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงื่อนไข Easy E-receipt 2.0 ช้อปลดหย่อนภาษี 2568 แบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง สูงสุด 30,000 บาท (กลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค และ แพ็คเกจท่องเที่ยว)
ซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านที่ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหลักฐานเป็น e-Tax invoice เต็มรูปแบบ หรือถ้าซื้อจากร้านที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ใช้ e-Receipt เป็นหลักฐานแทนได้
2. ลดหย่อนเพิ่มอีก สูงสุด 20,000 บาท (กลุ่มสินค้า OTOP ที่จดทะเบียน E-Tax Invoice หรือ E-Receipt)
- สินค้า OTOP ต้องเป็นสินค้าที่จดทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน
- สินค้าหรือบริการจากวิสาหกิจชุมชน ต้องจดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
- สินค้าหรือบริการจากวิสาหกิจเพื่อสังคม ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า OTOP, วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถใช้ลดหย่อนได้ทั้งในส่วนแรก (30,000 บาท) และส่วนเพิ่ม (20,000 บาท) โดยรวมกันต้องไม่เกินวงเงินสูงสุด 50,000 บาท
*โดยระยะเวลาโครงการ Easy E-receipt 2.0 เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568
สินค้าและบริการที่ไม่เข้าร่วม
- สุรา เบียร์ และไวน์
- ยาสูบ
- ทองคำแท่ง (เนื่องจากการขายทองคำแท่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา
- ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่ารักษาพยาบาลและศัลยกรรม
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว นอกเหนือระยะเวลาตามที่มาตรการกำหนด
- ค่าบริการจัดนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
อย่างไรก็ตาม การลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาท ไม่ได้หมายความว่า ยอดช็อปทั้งหมดจะถูกนำไปหักลดหย่อนภาษีเต็มจำนวน แต่สามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้มากสุด ตามอัตราภาษีที่เราต้องเสีย
หากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมมาตรการนี้ก็ได้
เพิ่มเติม: สินค้าของ Protriva ก็เข้าร่วม โครงการ Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษี 2568 นี้เช่นกันนะครับ
รายการลดหย่อนภาษีปี 2567 สำหรับยื่นต้นปี 2568
คนไทยที่มีรายได้ประจำตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไปต่อปี หรือมีรายได้อื่น ๆ รวมแล้วเกิน 60,000 บาท ต้องยื่นภาษี ยิ่งถ้ามีรายได้เยอะ ก็ยิ่งต้องเสียภาษีมากขึ้นไปอีก แต่ไม่ต้องกังวลใจไปครับ เพราะเรามีสิทธิที่จะลดหย่อนภาษีได้หลายอย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าซื้อประกันชีวิต ซึ่งจะช่วยให้เราต้องจ่ายภาษีน้อยลงนั่นเอง
โดยปกติแล้วจะใช้การคำนวณแบบ ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี โดยเงินได้สุทธิ สามารถหาได้จากการนำรายได้ทั้งหมดมารวมกัน พร้อมหาค่าลดหย่อนต่าง ๆ (เช่น ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน)
ซึ่ง เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับตามกฎหมาย ส่วนจะลดภาษีได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าสถานะว่าโสด สมรส หรือมีบุตรแล้ว ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว
ลดหย่อนได้ 60,000 บาท และสิทธินี้ชาวไทยทุกคนใช้ได้หมดไม่ว่าจะอยู่ในสถานะโสด, แต่งงานแบบจดทะเบียนสมรส หรือไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม
ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส
ลดหย่อนได้ 60,000 บาท แต่หลายคนเข้าใจว่าแค่แต่งงานจะได้ลดหย่อนภาษีทันที 60,000 บาท ไม่ใช่นะ เพราะต้องเป็นคู่สมรสที่ต้องจดทะเบียนสมรส และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ด้วย ถึงจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้
ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร
ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ให้สิทธิภรรยาผู้มีเงินได้ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีบุตร ครอบครัวไหนมีลูกหลายคนได้เปรียบแน่นอน เพราะลดหย่อนภาษีได้ถึงคนละ 30,000 บาท หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- อายุไม่เกิน 20 ปี
- ถ้าอายุ 21 – 25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
- บุตรมีเงินได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี
- กรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป จะสามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส
หากใครต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และพ่อแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30,000 ต่อคน และสิทธินี้ยังครอบคลุมไปถึงพ่อ-แม่ของคู่สมรสอีกด้วย หมายความว่าถ้าคุณดูแลพ่อแม่ตัวเอง+พ่อแม่แฟนด้วยแล้ว จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ
หากต้องดูแลผู้พิการที่บ้านไม่ว่าจะเป็น พ่อ-แม่-บุตร สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่ผู้พิการหรือทุพพลภาพนั้นจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000บาท ด้วย และต้องมีหลักฐานว่าคุณเป็นผู้อุปการะจริง ๆ ผ่านใบรับรองแพทย์ หรือว่าบัตรประจำตัวคนพิการ
2.ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
สิทธิลดหย่อนภาษีกลุ่มดังกล่าว ผู้สนใจใช้สิทธิต้องซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือสมทบทุนในกองทุนที่รัฐกำหนด ดังรายละเอียดต่อไปนี้
เงินประกันสังคม
สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์
จะได้สิทธิลดหย่อนภาษี ก็ต่อเมื่อซื้อประกันที่มีแผนกรมธรรม์คุ้มครองระยะเวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ซึ่งเบี้ยประกันชีวิตที่คุณได้จ่ายไป สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ แล้วจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
ถ้าใครทำประกันให้พ่อแม่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และบิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วย
เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
ผู้ที่สนใจทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือซื้อหุ้นกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
กองทุนที่เน้นลงทุนในบริษัทที่เกาะเมกะเทรนด์ความยั่งยืน ESG ซึ่งสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท เป็นวงเงินแยกต่างหาก โดยไม่ต้องนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ซึ่งเกณฑ์การถือครองหน่วยลงทุน ต้องถือหน่วยลงทุนเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป (นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund)
นอกจากกองทุน Thai ESG แล้ว กองทุน RMF ก็ให้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds)
ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่าเพื่อน ๆ ต้องถือหน่วยลงทุนของ SSF เกินกว่า 10 ปีขึ้นไปถึงจะใช้สิทธิลดภาษีได้ และกองทุน SSF สามารถนำค่าซื้อมาหักลดหย่อนภาษีได้ในปี 2563 – 2567 อย่างไรก็ดีหลังจากปี 2567 ต้องติดตามต่อไปว่าจะได้รับการขยายเวลาต่ออายุการใช้สิทธิลดหย่อนหรือไม่
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
พนักงานบริษัทเอกชน หรือครูเอกชนที่ได้ทำกองทุนดังกล่าวเอาไว้ นอกจากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของประกันสังคมได้แล้ว ยังใช้สิทธิลดภาษีจากกองทุน PVD หรือกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชนได้ด้วย ซึ่งลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ
กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)
ใครเป็นข้าราชการต้องจ่ายเงินกบข. เป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว อย่าลืมขอลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ฟรีแลนซ์ พ่อค้า-แม่ค้า ที่ไม่มีกองทุนเหมือนกับสาขาอาชีพอื่น ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นกันผ่านการออมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจะลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้พึงประเมิน ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท สามารถใช้สิทธิดังกล่าวควบคู่ไปกับเบี้ยประกันรูปแบบอื่น ๆ ได้ด้วย ทั้งนี้เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
การบริจาคเงินก็อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีเงินบริจาค 3 ประเภทที่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนภาษี
เงินบริจาคทั่วไป
หากบริจาคให้วัดวาอาราม หรือมูลนิธิอยู่เป็นประจำ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนกลุ่มอื่น ดังนั้นหลังบริจาคเสร็จแล้วให้ขอใบเสร็จไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการขอลดหย่อนภาษี
เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ
จัดเป็นค่าลดหย่อนภาษีที่สูงกว่ากลุ่มอื่นเลยทีเดียว เพราะลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง
ใครมีพรรคการเมืองในดวงใจ ก็อย่าลืมบริจาคให้ด้วยนะ เพราะให้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงถึง 10,000 บาท
4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
สำหรับกลุ่มนี้ต้องติดตามข่าวสารเศรษฐกิจสักหน่อยว่ารัฐบาลได้มีโครงการอะไรออกมากระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง และนอกจากโครงการรัฐแล้วใครที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง
ข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก กรมสรรพากร